พนักงานขาย สมัครยังไง เงินเดือนเท่าไหร่ สวัสดิการดีไหม ทำอะไรบ้าง เพื่อนดีไหม?

1) สายจากสวรรค์

วันนั้นเป็นวันธรรมดาวันหนึ่ง เรากำลังเดินทางไปตรวจงานตัวอย่างจิวเวลรี่ก่อนเริ่มการผลิตล็อตแรก อยู่ๆ ก็มีสายแปลกๆ โทรมา เราไม่ได้รับเพราะยุ่ง และเบอร์นี้ก็โทรหาเราอีกครั้ง เราจึงรับสายและ ได้ทราบว่า head hunter หรือ ผู้ทำหน้าที่ในการค้นหาผู้สมัครงานคล้ายกับ Recruitment Consultant ติดต่อมาเสนองาน เนื่องจากโปรไฟล์ หรือ Resume ของเราอยู่ใน Linkedin และ Jobsdb ซึ่ง Head hunter และในระบบ AI ทำการ match เรากับงานนี้ เขาได้ถามว่าเราเงินเดือนปัจจุบันอยู่ที่เท่าไหร่ และ ต้องการเท่าไหร่ สอบถามประวัติคร่าวๆ ว่าเป็นตัวจริงและเป็นคนปกติ ที่คุยรู้เรื่องไหม 555

Key takeway (สิ่งที่ได้เรียนรู้):

เบอร์ที่โทรมาจากต่างประเทศ ส่วนมากจะเป็นเบอร์มิจฉาชีพ (Scammer) ส่วนเบอร์ไทยปกติถ้าสะดวกใจ ลองรับสาย หรือ โทรกลับดู เผื่อมีคนมอบโอกาสดีๆให้ หลายคนที่เรารู้จักนำ resume ไปฝากที่ออฟฟิศของบริษัทนั้นๆเลย แสดงให้เห็นถึงความพยายามซึ่ง HR หลายคนก็ชอบเพราะเราจะ standout มากๆจากคนที่สมัครทางออนไลน์ แน่นอน Job reference จากแบรนด์ HERMES, DIOR, CHANEL, LOUIS VUITTON, CARTIER, VAN CLEEF  & ARPELS, GUCCI, CELINE, BVLGARI หรือ แบรนด์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นเหมือนกัน แม้ว่าจะไม่ได้เป็น LUXURY brand ก้มีสำคัญเช่นกัน เช่น ZARA, UNIQLO, MASSIMO DUTTI และทำให้ได้โอกาสการทำงานมากที่สุด แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมี Reference ดีๆ

2) ดีลจาก Headhunter win-win

เขาเสนองานขายแบรนด์เนม ตำแหน่ง Senior SA หรือ พนักงานขายที่ต้องทำมากกว่าขาย (ซึ่งจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไป 555) ที่เขาเสนอตอนนั้นเงินเดือนเริ่มที่ประมาณ 50,000 บาท และ ได้ค่าคอมมิชชั่นจากการขาย ต่างหาก ผมตอบตกลงเนื่องจากต้องการหาประสบการณ์ใหม่ๆ ฝึกการขาย เข้าใจระบบ Retail และ สาวๆ ในร้านดูดีทุกคน (เหตุผลสำคัญที่สุด 555) ซึ่งส่วนใหญ่มีประสบการณ์ จากการเป็น Air hostess หรือ ทำงานด้านสายโรงแรม Serviced mind สูงๆ บุคลิกดีๆ โดย head hunter จะได้เงินเดือนเรา 3 เดือนจากบริษัทแบรนด์เนม หากเราผ่าน Probation และ ทำงานครบ 1 ปี ซึ่งเป็นรายได้ที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว

Key takeway (สิ่งที่ได้เรียนรู้):

สำหรับคนที่ต้องการหางานดีๆ รายได้สูง ควรฝากโปรไฟล์ไว้ใน linkedin, jobsdb, เพราะ ส่วนใหญ่ recruitment consultant จะจ่ายเงินให้สองบริษัทนี้เพื่อเข้าถึงข้อมูล สำคัญที่สุดคือต้องกรอก keyword ให้ Match กับงานที่เราต้องการ โดยคุณสามารถดู keyword จาก job descriptions ของแต่ละงานได้

3) วันสัมภาษณ์

เริ่มด้วยการเช็คว่าเรามีคุณสมบัติตาม Resume ไหม ก็คือให้เราเล่าให้เขาฟังว่าทำอะไรมาบ้าง กับ Hr และ Store manager ได้ถามคำถามที่สำคัญคือ เขาให้เราขายปากกาให้ดูหน่อย เอาจริงๆ ก็ไม่ได้ตอบดีเลย คือตอบแบบคนขายทั่วไปว่า ปากกานี้ดีอย่างโน้น อย่างนี้ ซึ่งที่จริงแล้ว เขาแค่อยากดูบุคลิก และ วิธีการสื่อสารของเรา เพราะ ที่เหลือสามารถพัฒนาได้จากการทำงาน เรียนรู้ไปทุกวัน แท้จริงแล้ว hr ได้ล็อคเป้าเราไว้แล้ว เพราะทางร้านแบรนด์เนมต้องการคนที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ และ ภาษาจีนได้ และถ้าเป็นผู้ชายด้วยยิ่งดี เพราะส่วนใหญ่ในร้านจะเป็นผู้หญิง หลังจากออกมาจากห้องสัมภาษณ์เขาก็ถามเลยว่า package แบบนี้โอเคไหม ถ้าโอเค เดี่ยว Hr จะติดต่อไปพร้อมรายละเอียด คือเขาไม่ต้องการให้เราไปสัมภาษณ์ที่ไหนแล้ว อันนี้คือเป็น Permanent employee ถ้าตำแหน่งแม่บ้าน, greeter พนักงานต้อนรับหน้าประตู จะถูกจ้างผ่านบริษัทตัวกลางอีกทีหนึ่ง ไม่ต้องสัมภาษณ์ที่ออฟฟิศบริษัทแบรนด์เนม

Key takeway (สิ่งที่ได้เรียนรู้):

จริงแล้ว candidate ส่วนใหญ่จะเตรียมตัวกับการถามเชิงเทคนิค ค่อนข้างเยอะ แต่สำหรับงานขายนี้ หน้าตา บุคลิกภาพ ท่าทาง น้ำเสียง รอยยิ้ม แววตา ไหวพริบ และภาษา สำคัญมากสำหรับงานขายนี้เพราะต้องทำงานกับคนเกือบ 100% ที่เหลือถือว่าเป็นโบนัส

4) เงินเดือนและผลตอบแทนต่างๆ

ทุกแบรนด์จะคล้ายคลึงกันโดยมีเบสเงินเดือน และค่าคอมมิชชั่นตามสินค้าที่ขายได้ คร่าวๆ จะไม่ถึง 1% ทุกเดือนจะลุ้นให้เป็นร้านแตก เพราะจะได้ค่าคอมมิชชั่น *2 เช่น เงินเดือน 50,000 + คอม 15,000 ถ้าเป้าแตกก็จะได้ค่าคอมเป็น 30,000 พวกสินค้าขายยาก มาจินสูงและ เป็นสินค้าที่แบรนด์กำลังจัด event จะได้ค่าคอมมากเป็นพิเศษ ซึ่งบางเดือนอาจได้รับหลักแสนเลยทีเดียว

แบรนด์บางแบรนด์จะให้ค่าคอมมิชชั่นสูงมากๆ แต่เบสเงินเดือนต่ำมากๆ ซึ่งจะเหมือนบีบพนักงานให้ขายได้เยอะๆ บางคนก็จะกดดันจนรับไม่ไหว เพื่อนร่วมงานบางคนก็อาาจะไม่มีเวลาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และงานส่วนรวม เช่น จัด VM ดูแลความสะอาดบน counter ช่วยเพื่อนแปลภาษา หรือ ให้ความรู้สินค้าทางเทคนิคที่พนักงานขายที่ไม่มีประสบการณ์จะไม่ทราบได้ เช่น การดูแลหนังจระเข้ นโยบายการเปลี่ยนสินค้า ส่วนเรื่องของ Staff Discount/ หรือ Staff Sale ส่วนลดพนักงาน บางแบรนด์จะให้สิทธิ Store manager จากต่ำแหน่งสูงที่สุดได้เลือกซื้อสินค้าลดราคาก่อน โดยจะมีการจำกัดโควต้าและทำตำหนิไว้ ไม่ให้นำไปขายต่อ บางชิ้นลดมากกว่า 50% ก็มี รายละเอียดเราจะมาเล่าในอีกบทความต่อไป

Key takeway (สิ่งที่ได้เรียนรู้):

ต้องบอกกว่าเงินเดือนที่สูงจะมาพร้อมกับความหวังที่สูงขึ้นด้วย โดยหลักๆ แล้วจะวัดด้วยยอดขายและการช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีม เช่น บางทีลูกค้าของเพื่อนเข้าร้านพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย เราก็ควรช่วยเพื่อนพาลูกค้าที่เข้ามาทีหลังชมสินค้าไปก่อน และเปิดบิลในชื่อเพื่อน หรือ หากสินค้าในร้านวางไม่เป็นระเบียบเราควรเข้าไปช่วย ซึ่งการไม่ผ่าน Probation เป็นเรื่องปกติ ก็จะมีการต่อ Probation เป็นเรื่องธรรมดา โดยหลักการแล้วหากไม่มีประสบการณ์ จึงควรคาดหวังรายได้ตามราคาตลาด พอเราทำได้ดีแล้วแบรนด์อื่นๆ จะติดต่อเราเข้ามาเอง หรือ เราสามารถนำ performance record เราไปสมัครที่ต่อๆ ไปได้

งานนี้รายได้ไม่ได้สูงมาก อย่างที่ทุกคนคิด การที่จะได้รายได้หลักแสน จำเป็นที่จะต้องมีลูกค้าที่ซื้อสินค้าในราคาหลักล้านบาทหลายๆ ชิ้น ลองคำนวณดูสมมติ ค่าคอมมิชชั่น 0.5% * ยอดขาย 10,000,000 บาท เราได้ค่าคอมมิชชั่น ประมาณ 50,000 บาท เท่านั้น

5) วันหยุด วันเทศกาล

หนึ่งอาทิตย์จะหยุดได้เพียง 1 วันซึ่งน้อยมากๆ เช่นทุกวันพุธ แล้วทุกๆ เดือนจะหยุดได้ 4 วัน เท่ากับว่าเรามีวันหยุด 8 วัน ต่อสัปดาห์ ส่วนวันลาที่เหลือเป็นไปตามกฎหมายแรงงานขั้นต่ำ วันพระหรือวันหยุดที่เกินๆ มา ส่วนมากจะไม่ได้หยุด แต่ทางบริษัทจะให้เรตพิเศษวันนั้นๆ ไป เพราะวันหยุดจะมีลูกค้าเข้ามาที่ร้านมากเป็นพิเศษ

Key takeway (สิ่งที่ได้เรียนรู้):

งานขายหน้าร้านนี้จึงมีเวลาให้กับครอบครัวได้น้อยมากๆ และ วันหยุดส่วนมากจะหมดไปกับการนอนและจัดการงานส่วนตัวและงานบ้านต่างๆ ซักผ้า ทำความสะอาดบ้าน จ่ายค่านำ้ ค่าไฟ ซ่อมโน่นนี่ พาที่บ้านไปหาหมอ

6) การสลับวันหยุด และ วันทำงาน

เราสามารถขอสลับวันหยุดได้ แต่ต้องเป็นคนที่สามารถทดแทนหน้าที่ของเราได้ เช่นเราเป็น Senior มีหน้าที่เปิดร้าน จะไม่สามารถสลับวันหยุด กับ Junior ที่ไม่มีความรับผิดชอบด้านนี้ เราจึงต้องสลับกับ Senior เท่านั้น เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับงาน ส่วนใหญ่ร้านขายแบรนด์เนมจะเปิด 10 โมงตามเวลาห้างแต่ การเปิดร้านจำเป็นที่จะต้องไปถึงที่ร้าน 8 โมงเพื่อ Set up ทุกอย่างให้พร้อมก่อนร้านเปิด ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีใครอยากเข้ากะเช้าเปิดร้านเท่าไหร่ เพราะจะค่อนข้างยุ่งวุ่นวายและต้องตื่นเช้า

Key takeway (สิ่งที่ได้เรียนรู้):

การขอสลับวันทำงานหรือวันหยุด ไม่ใช่แค่เรื่องของ fair function เท่านั้นแต่เป็นเรื่องส่วนตัวด้วยเพราะบางครั้งเราอาจต้องรบกวนให้เพื่อนสลับ ทั้งๆ ที่เป็นงานที่ลำบากขึ้น เผื่อไว้คราวหน้าเพื่อนขอสลับบ้างในอนาคต เพราะถ้าเราไม่ยอมสลับ คราวหน้าเรามีธุระหรือความจำเป็นต้องหยุด หากเราไปขอ เพื่อนอาจจะไม่ยอมสลับกับเราก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับรายบุคคล สลับแล้วก็ต้องแจ้งให้ Manager ได้ทราบ

7) เวลาทำงาน

การทำงานของพนักงานขายจะแบ่งเป็น shift เวลา ตั้งแต่ 8 โมง เลิก 5 โมงเย็น, 8.30 โมง เลิก 5.30 โมง ไปเรื่อยๆ ทุกรอบทีละ 30 นาทีจนถึงรอบสุดท้าย เข้า 12.30 เลิก 21.30 โดยรอบสุดท้ายคนจะเยอะที่สุดเพราะลูกค้าจะมาซื้อของเยอะช่วงบ่ายถึงเย็นหลังเลิกงาน ซึ่งการทำงานนี้จะต้องยืนตลอด ไม่มีเก้าอี้ให้พนักงานนั่งพัก แต่เอาเข้าจริงแล้วก็สามารถขอตัวไปเข้าห้องน้ำ หรือ นั่งตามห้องออฟฟิศข้างในได้ แต่จำนวนเก้าอี้จะมีเพียง 2-3 ตัว ต่อคน 25 คน ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องใหญ่แต่คนส่วนใหญ่ที่ทำงานจะมีลูกค้าตลอด หรือ มีงานให้ทำจึงไม่ได้ยืนเฉยๆ จนรู้สึกเมื่อย อีกทั้งพนักงานขายส่วนใหญ่จะมีอายุ ตั้งแต่ 23-28 ปีซะส่วนใหญ่

Key takeway (สิ่งที่ได้เรียนรู้):

การทำงานเป็นกะของแต่ละวันทุกคนจะได้รอบเวลาต่างกันไปทุกวัน ถ้าคนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ จะไม่เหมาะกับงานประเภทนี้เนื่องจากนอนไม่เป็นเวลา รวมไปถึงคนที่เป็นโรคกระเพาะ เพราะเราจะได้ทานอาหารไม่ตรงเวลา คนที่ป่วยเรื่องกระดูกที่ไม่สามารถยืนได้นานๆ ก็จะมีอาการปวดเมื่อยได้เพราะรองเท้าพนักงานนั้นไม่ได้ใส่สบายและต้องยืนเป็นเวลานาน หลายๆ คนต้องใส่ส้นรองรองเท้า หรือ แอบหารองเท้าที่คล้ายคลึงกับชุดพนักงานมาเปลี่ยนใส่บ้าง บางเวลาที่จำเป็น เพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้ โดยยังมีบุคลิกและ grooming ที่ดี

8) สังคมการทำงานกับเมเนเจอร์และเพื่อนร่วมงาน

สังคมที่ร้านแบรนด์เนมแต่ละแบรนด์จะต่างกันออกไปโดย nature ของเนื้องานเช่น บางแบรนด์ให้ขายอย่างเดียว บางแบรนด์ต้องขายด้วย เปิดบิล ด้วยแพ้กด้วย จำนวนของพนักงานขาย เรทฐานเงินเดือนและค่าคอมมิชชั่น ส่วนใหญ่แบรนด์ไหนงานหนัก เงินก็จะเยอะตามเพราะว่าสังคมค่อนข้างแคบ และ Hr ต่างเปิดรับแบรนด์คู่แข่งมาทำงานจะได้ไม่ต้องสร้างสกิลหรือเทรนนิ่งใหม่ ถือว่าพร้อมใช้งานได้เลย โดยรวมถ้าทำได้ใกล้เป้าหรือลำดับการขายของเราไม่ได้อยู่ข้างล่าง เราจะไม่ได้รับแรงกกดดันทางยอดขายจากหัวหน้า ก็จะอยู่ค่อนข้างสบาย และ หากเราคอยช่วยงานเมเนเจอร์เช่น รับบรีฟสินค้าใหม่ คอยอัพเดทเรื่องสำคัญๆ ที่เจอหน้างาน เช่น ช่วงนี้เทรนด์เป็นยังไงบ้าง สนามบินมีการเปลี่ยนเรตการคืนภาษีซึ่งลูกค้าเป็นคนมาบอก สิ่งเหล่านี้จะทำให้หัวหน้าชื่นชอบเราเป็นพิเศษ เอาง่ายๆ คือช่วยงานหัวหน้าและขายได้ตามเป้า

สำหรับเพื่อนร่วมงาน เราจะต้องทำงานกับพนักงานขายท่านอื่นๆ แน่นอนถ้าเราขายดีเกินหน้าเกินตา ก็คงจะมีโดนหมั่นไส้ หรือ อิจฉาเป็นธรรมดา เราจึงต้องคอยช่วยเหลือเพื่อนๆ ให้ปิดยอดได้เยอะๆ ด้วย หากวันไหนขายดีมากก็ควรหยุดรับลูกค้าบ้าง โดยไปช่วยจัด VM (Visual Merchandise) หรือเติมสต๊อกสินค้า เพื่อนก็จะมีสิทธิ์ได้รับลูกค้ามากขึ้นด้วย แท้จริงแล้วแต่ละคนล้วนมาจากที่ๆ แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นแล้วจำเป็นที่จะต้องฟังให้มากๆ และมีน้ำใจให้มากๆ สังคมพนักงานขายจะค่อนข้าง Emotional มากกว่า สังคม Office ที่ใช้ Logic ค่อนข้างมาก เราจึงต้องระวังคำพูดและพยายามทำตัวให้คนอื่นรักด้วย อันนี้ล้วนแล้วแต่บุคลิกของแต่ละคน

Key takeway (สิ่งที่ได้เรียนรู้):  สุดท้ายแล้วก็เป็นตัวของตัวเองได้ส่วนหนึ่ง และพยายามรับฟังให้มากๆ เพื่อปรับตัวเข้ากับสังคม ทุกคนต่างมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป พยายามมองในข้อดี แล้วจิตใจจะเบาสบาย พยายามคอยช่วยเหลือทุกคนในทีม ดีใจเมื่อเพื่อนปิดยอดใหญ่ๆ ได้ การขายสามารถฝึกฝนกันได้ โดยยอดขายเป็นผลพลอยได้ซะมากกว่า การทำงานกันเป็นทีมจำเป็นที่จะต้อง Balance ทุกองค์ประกอบให้ดี

9) อาหาร ขนม เครื่องดื่ม

โดยส่วนมากพนักงานขายจะฝากท้องไว้กับร้านอาหาร แถวห้างสรรพสินค้าเป็นส่วนใหญ่ โดยหากต้องการประหยัดเกือบทุกห้างสรรพสินค้าก็จะมีโรงอาหารราคาประหยัดไว้รองรับพนักงานห้างสรรพสินค้าราคาข้าวราดแกง เริ่มต้นที่ 30 บาท แต่รสชาติอาจไม่ถูกปากมากนัก บางคนก็เตรียมอาหารมาเองจากที่บ้าน ปกติก็จะมีครัวเล็กๆ และมีจานแก้วส่วนกลางที่ถ้าใช้แล้วต้องล้างทำความสะอาด ที่สำคัญที่สุดคือ ตู้เย็นจะมีการเคลียของที่ไม่ได้ทานแล้วทุกอาทิตย์ เพื่อรักษาความสะอาดและ ให้ทุกคนได้ใช้พื้นที่ของตู้เย็นได้เต็มที่ ไม่สามารถนำอาหารกลิ่นแรง มาแช่ได้ เช่น ทุเรียน ของหมักดองที่มีกลิ่นแรง แน่นอนว่าพื้นที่ทานอาหารและล้างจาน น้ำดื่มทางแบรนด์ไม่ได้มีเตรียมไว้ให้ ต้องซื้อกินเอง พนักงานขายแบรนด์เนม ไม่อนุญาตให้ทานลูกอม หรือ หมากฝรั่งระหว่างทำงาน

Key takeway (สิ่งที่ได้เรียนรู้): ส่วนใหญ่ราคาอาหารจะไม่ค่อยมีผลกระทบต่อพนักงานขายมากนัก เนื่องจากเป็นอาชีพที่รายได้ค่อนข้างสูง ส่วนมากควรมีขนมไว้รองท้อง เพราะการทำงานไม่เป็นเวลา หรือ บางครั้งลูกค้ามาพร้อมๆ กัน อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคกระเพาะได้

10) ศัลยกรรมและงานขาย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความหล่อ ความสวยของผู้ขายมีผลต่อความรู้สึกของผู้ซื้อ ด้วยเหตุนี้พนักงานขายๆ หลายๆ คนจึง ลงทุนกับตัวเองในด้านนี้ โดยมากจะเป็นพนักงานเพศหญิง ที่มีการฉีด Botox ทำจมูก ทำตา ฉีดฟิลเลอร์ที่คาง เหล่านี้เป็นเรื่องปกติมากๆ ในยุคสมัยนี้ เนื่องจากงานขายเป็นงานที่ต้องใช้หน้าตาเป็นอย่างมาก เรื่องการทำศัลยกรรมจึงสำคัญ โดยมีผลเริ่มตั้งแต่การสัมภาษณ์งาน

Key takeway (สิ่งที่ได้เรียนรู้): 

ศัลยกรรมสามารถเสริมสร้างบุคลิกภาพได้ แต่อย่างไรก็ตามบางคนอาจโชคร้าย จมูกเบี้ยว จมูกทะลุ จมูกโด่งเกินไป ตาไม่เท่ากัน ยิ้มไม่ได้เนื่องจากฤทธิ์ของ Botox การทำศัลยกรรมสำคัญมากที่การพักฟื้นด้วย หากตัดสินใจทำต้องแจ้งเมเนเจอร์ให้ทราบล่วงหน้า

11) ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น มีผลต่อการขายไหม

ปัจจุบันลูกค้าเกือบ 50% เป็นชาวต่างชาติ และ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ภาษาอังกฤษและ ภาษาจีนจึงสำคัญมากๆ ในการสื่อสาร เพราะคนจีนบางคนไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เช่นถ้าเราสามารถพูดอธิบายสินค้า หรือ ประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากสินค้านั้น โอกาสที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ภาษาญี่ปุ่นนั้นปัจจุบันใช้น้อยมาก เนื่องจากประชากรค่อนข้างน้อย หากเทียบกับจีน

Key takeway (สิ่งที่ได้เรียนรู้):

ลูกค้าคนจีนชอบซื้อแบรนด์เนมจากต่างประเทศมากกว่าในประเทศจีน เพราะได้ภาษีคืนและยังสามารถหาสินค้าหายากได้ในประเทศไทย เพราะ ประเทศจีนความต้องการมาก มีการจัดคิวค่อนข้างยาว และ รอนาน

12) การมู/ มูเตลูหรือไหว้ขอพรมีผลต่อการขายหรือไม่

ในร้านแบรนด์เนม back office ส่วนใหญ่จะมีหิ้งพระเล็กๆ สำหรับ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเมื่อเจออุปสรรคต่างๆ และเป็นหนึ่งในฮวงจุ้ยที่มีผลให้ทุกคน คิดดี พูดดี ทำดี เพราะเหมือนเป็นเครื่องเตือนใจ การไหว้บางท่านจะเชื่อมากๆ เพราะจะเสริมความมั่นใจในการทำงาน เมื่อเรามั่นใจ มักมีแรงหรือพลังงานบางอย่างที่จะส่งเสริมให้ มุ่งมั่น แน่วแน่ และประสบความสำเร็จ แต่ถ้าบางคนมั่นใจอยู่แล้ว หรือ ไม่มีความเชื่อทางด้านนี้ก็อาจจะไม่มีผลมากนัก อย่างไรก็ตาม ไม่เชื่อก็ไม่ควรลบหลู่

Key takeway (สิ่งที่ได้เรียนรู้):

การมูนั้นเป็นความเชื่อที่มีมานาน เด็กรุ่นใหม่ที่เชื่อในการทดลง พิสูจน์หาเหตุผล อาจไม่เชื่อก้ไม่ควรไปพูดดูหมิ่นด้วยวาจา ในสถานที่สาธารณะเพราะ บางคนอาจจะไม่ชอบเราก้ได้เพราะความเชื่อบางอย่างส่งต่อๆ กันมาจนเป็น ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม

13) เริ่มงานวันแรก

ก็จะมีการ Training แบบเร่งด้วยเพราะในหน้าร้านทุกคนยุ่งและต้องคอยรับลูกค้ากันหมด จะมีเป็นใบ check box ให้ติ๊กว่าเรียนรู้ทุกจุดสำคัญครบแล้วหรือไม่ อีกทั้งยังมีระบบ buddy ซึ่งก็จะเหมือนพี่เลี้ยงคอยดูแล ซึ่งดีมากๆๆ ช่วยได้เยอะเลย วันแรกก็สังเกต ฟังๆ จดๆ อย่างเดียว หลังจากนั้น Buddy ก็จะให้เราลองเปิดบิลและจะคอยอยู่ข้างๆ คอยช่วยเหลือ

Key takeway (สิ่งที่ได้เรียนรู้):

การเทรนนิ่งแค่มีส่วนประมาณ 5% เท่านั้นที่เหลือ คุณจำเป็นต้องเรียนรู้จากการทำงานและเพื่อนร่วมทีม หรือสักถามกับผู้มีประสบการณ์มาก่อน ไม่ต้องอายที่จะถาม ข้อผิดพลาดจากการไม่รู้และไม่ถามในร้านแบรนด์เนมอาจสร้างความเสียหายหลักหมื่นหรือหลักแสนได้เลย เพราะมูลค่าของสินค้าค่อนข้างสูง

14) หน้าที่ของพนักงานขาย Junior SA

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำยอดขายให้ถึงยอด โดยเทคนิคการขายขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งล้วนแตกต่างกัน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความนี้ บางร้านแบรนด์เนมจะค่อนข้างซีเรียสมากๆ ถ้ายอดขายไม่ได้ตามเป้า เพราะเมเนเจอร์ก็จะถูกกดดันมาอีกที ตัวเลขพวกนี้เราจะเรียกย่อๆ ว่า KPI ซึ่งเราจะสรุปคร่าวๆตามนี้

ยอดขาย เราสามารถทำยอดขายรวมตรงเป้าทุกเดือนไหม ในงานอีเว้นต่างๆ เช่น งานกระเป๋าหนังจระเข้เราสามารถขายได้ไหม แต่ละเดือนจะมีแคมเปญส่งเสริมการขายเราสามารถแคมเปญนั้นๆ ตรงเป้าไหม

– ประเภทสินค้าที่ขายได้

แน่นอนทุกแบรนด์จะมีโปรดักส์ฮีโร่ หรือสินค้าที่ลูกค้าตามหาและตัดสินใจซื้อค่อนข้างง่าย สำหรับพนักงานขายสิ่งที่ยากที่สุดในการขาย คือ การขายของที่ลูกค้าไม่สนใจหรือไม่ได้ตามหาแต่แรก และสินค้าชิ้นนั้นมีราคาค่อนข้างสูง เช่น โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ หีบใส่ของ ของแต่งบ้าน ประเภทสินค้าที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ ราคาจะค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าก็จะไปซื้อตามแบรนด์ที่มีชื่อเสียงด้านเฟอร์นิเจอร์ แต่การที่แบรนด์ขายกระเป๋าจะขายสินค้าเฟอร์นิเจอร์นั้นจึงเป็นเรื่องไม่ง่าย

– การพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้า

โดยวัดจากตัวเลข โดยหลักๆ แล้ว ทางแบรนด์จะเน้นย้ำให้โฟกัสกับลูกค้าที่มีอยู่ ให้ซื้อซ้ำและกระชับความสัมพันธ์โดยการเชิญมาออกอีเว้น หรือ เชิญชมสินค้าคอลเล็คชั่นใหม่ๆ หลังจาก โรคระบาด covid-19 ทุกแบรนด์ล้วนโฟกัสที่ลูกค้าคนไทยมากขึ้น โดยสัดส่วนลูกค้าชาวต่างชาติลดลง การพัฒนาความสัมพันธ์ เช่น การเข้าชมงานอีเว้น การซื้อของจำนวนชิ้นที่มากขึ้น ประเภทสินค้าหลากหลายขึ้น และ การซื้อสินค้ามูลค่าสูงเช่น กระเป๋าหนังจระเข้ เฟอร์นิเจอร์ และ หีบ

– การ Support team

เราช่วยเหลือทีมมากน้อยแค่ไหน เช่น การช่วยนำสินค้าใหม่ๆ มาบรีฟหรือ อธิบายเชิง design concept/ inspiration/ material/ technical/ ต่างๆ เพื่อให้เพื่อนๆ สามารถนำอธิบายกับลูกค้าและโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าได้ หากคุณได้ภาษาจีน คุณสามารถช่วยเพื่อนที่พูดไม่ได้คุยหรือปิดดีลกับลูกค้าชาวจีน ซึ่งส่วนมากจะไม่ถนัดภาษาอังกฤษ หากลูกค้าเพื่อนมาชนกัน เราก็ไปช่วยดูลูกค้าหรือเปิดบิลให้ได้ ช่วยจัดระเบียบชั้นวางสินค้าให้ดูเรียบร้อยตลอดเวลา และ อื่นๆ อีกมากมายมาย

– Feedback จากลูกค้า

ทุกครั้งที่ลูกค้ากรอกอีเมลลงทะเบียนเพื่อซื้อสินค้า ระบบจะสุ่มส่งแบบสอบถามความพึงพอใจหรือ Survey ไปที่ลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าประเมินความพึงพอใจด้านต่างๆ เช่น บรรยากาศร้าน พนักงานต้อนรับรวมถึงคิว พนักงานขาย การอธิบายสินค้า การดูแลลูกค้า มารยาทและการแต่งกายของพนักงาน และ ความคิดเห็นเพิ่มเติมที่จะชี้แนะ ทุกคำตอบของลูกค้าจะได้รับการส่งไปที่เมเนเจอร์ เพื่อที่เมเนเจอร์จะได้ประเมินประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานและนำไปปรับปรุงแก้ไข พนักงานและร้านค้า

– การจัด VM หรือ Visual Merchandiser

คือการจัดวางสินค้าและรวมไปถึงบรรยากาศภายในร้านให้น่าสนใจ เป้าหมายคือให้ลูกค้าซื้อสินค้า โดยจะเปลี่ยนไปตาม Season และ คอลเล็คชั่นต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น หากเป็น summer กระเป๋า เสื้อผ้าจะสีสดใส ชมพู ฟ้า เหลือง ม่วง สีนีออน หากร้านตกแต่งแบบคลาสสิคใช้ไม้ หรือ modern เป็นกระเบื้องขาวก็จะปกติเกินไป ทีม VM โดยส่วนมากจึงมี พร็อพเพิ่มเช่น พรม, wall paper, figure หรือ หุ่น, และ อุปกรณ์ที่ช่วยส่งเสริมให้ collection ไปในทางเดียวกัน พนักงานขายมีหน้าที่หลักคือหาสินค้าตามที่ทีม VM ต้องการเพื่อมา Display และทำงานร่วมกันโดยหาของที่มีสต๊อกค่อนข้างเยอะมาวางไว้

– การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และมีวิธีการขายที่ถูกต้อง (Selling Ceremony)

เช่น เข้าและออกงานตรงต่อเวลา การแต่งการถูกระเบียบ เสื้อผ้า กางเกง กระโปรง รีดสะอาด รองเท้าขัดไม่เลอะ ผู้ชายโกนหนวด หรือไว้หนวดแบบเป็นระเบียบ ผู้หญิงผมไม่กระเซิง ไม่มีกลิ่นตัว แน่นอนด้วยจำนวนลูกค้าที่มากและเวลาที่จำกัด ถ้าจะให้พนักงานเสิร์ฟน้ำทุกคน พูดคุยเป็นเวลานาน หรือ พรีเซนต์สินค้าทุกชิ้นคงเป็นไปไม่ได้ แต่ที่สำคัญที่สุดต้องทำให้ลูกค้าประทับใจ

– การเสิร์ฟน้ำ ชา กาแฟ แชมเปญ

โดยปกติแล้วลูกค้าสามารถขอเครื่องดื่มจากพนักงานได้ จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงาน เพราะบางครั้งถ้าลูกค้าทัวร์หรือกลุ่มใหญ่เข้ามาในร้านแล้ว ไม่ซื้อสินค้าร้านจะวุ่นวายมากกับการดูแล และ ต้องระวังไม่ให้เลอะสินค้า อีกทั้งยังต้องคอยแนะนำสินค้า หาสินค้ามาให้ลอง เช็คของในสต๊อกและอื่นๆ อีกมากมาย จะค่อนข้างวุ่นวายเลยทีเดียว เพราะการเสิร์ฟน้ำหมายถึงว่าเราก็ควรเก็บน้ำด้วย ในบางครั้งจะมีแม่บ้านคอยดูแลรักษาความสะอาดแต่ไม่ใช่ทุกครั้งไป เพราะพนักงานขายมีเกิน 10 คนในบางร้าน แม่บ้านจำนวนไม่กี่คนอาจดูแลไม่ทั่วถึง จึงต้องช่วยๆ กันไป อีกทั้งลูกค้าหลายท่าน อาจจะตั้งใจมาเพื่อทดลองก่อน แล้วไปซื้อสินค้าที่ต่างประเทศ

– การรับคิวของพนักงานขาย

ปกติแล้วจะรันตามก่อนหลัง คือถ้าใครมารอหน้าประตูทางเข้าของร้านก่อนก็จะได้รับคิวก่อนคนแรก แล้วคนที่ตามมาก็จะได้คิวต่อๆ นั้นไป แต่ถ้าเป็นลูกค้าประจำของพนักงานขายท่านไหน เพื่อนๆ ก็จะช่วยตามพนักงานท่านนั้นมาดูแล ในบางครั้งถ้าไม่มีคิว ทางเมเนเจอร์ก็จะให้พนักงานเข้าไปช่วยจัดการ Back of House ต่างๆ ไว้เราจะมาเขียนในอีกบทความนึง

– การซ่อมแซมสินค้า

บางร้านแบรนด์เนมจะรับซ่อมสินค้า บางร้านจะไม่รับซ่อมขึ้นอยู่กับว่าสินค้าชนิดนั้นๆ มีอะไหล่ หรือ นโยบายของร้านค้า ซึ่งวิธีการคร่าวๆ คือร้านค้าจะทำการเช็คแท้ ปลอมคร่าวๆ ก่อน แล้วจึงค่อยบอกราคาและระยะเวลากับลูกค้า หลายสินค้าทางร้านอาจจะซ่อมออกมาไม่เหมือนเดิม หรือ ไม่มีอะไหล่แล้วโดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตจำนวนจำกัด ด้วยสาเหตุนี้จึงต้องแยก case by case บางครั้งสินค้าที่ผลิตออกมามีปัญหาทางร้านจะซ่อมให้ฟรี หรือ เปลี่ยนสินค้าใหม่ให้ ร้านค้าแบรนด์เนมส่วนใหญ่จะดูแลลูกค้าค่อนข้างดีเพราะรายได้ส่วนใหญ่เกิดจากลูกค้าประจำ หรือ ลูกค้าที่ซื้อซ้ำนั่นเอง

– การนับ stock

เป็นงานที่พนักงานขายเอือมระอาที่สุดก็ว่าได้เพราะเป็นงานที่เหนื่อยที่สุด เรายังจำได้หนึ่งปีจะมีนับ stock ใหญ่ 2-3 ครั้งซึ่งนอกจากการที่เราต้องทำงานปกติแล้ว ยังต้องทำงานล่วงเวลาอีกด้วย ทั้งเตรียมระบบ ปิด barcode สินค้าที่ไม่มี barcode สินค้าที่ได้รับการจองหรือเตรียมขายก็ต้องนำมายิงด้วย สินค้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยจะหาค่อนข้างยากมาก ไม่เพียงเราต้องค้นในลิ้นชัก ชั้นวาง เราต้องตั้งใจหาที่หุ่นอีกด้วย ใน Vault และ บางครั้งอยู่กับฝ่ายอื่นๆ เช่น ฝ่ายซ่อม ฝ่ายแพ้กสินค้า ฝ่ายเพ้นท์วาดลายสินค้า ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือ ต้องเช็คให้ละเอียด แน่นอนที่สุดบางสินค้าที่หาไม่เจอทุกคนในทีมต่างช่วยกันหาแล้วหาอีก

15) หน้าที่ของพนักงานขาย Senior SA

ตำแหน่ง Senior จะมีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นมาบางอย่างมากกว่าตำแหน่ง Junior ซึ่งแตกต่างกันออกไปตามแต่ละแบรนด์ เช่น

– การช่วยเหลืองานเมเนเจอร์

ดูแลความเรียบร้อยของร้านโดยรวม ร้านอยู่ในสภาพสวยงาม โดยเฉพาะส่วนของชั้นสินค้า พนักงานนำสินค้าเช่นผ้าพันคอมาโชว์แล้วพับเก็บให้เรียบร้อยหรือไม่ กระเป๋าทุกใบต้องเก็บสายและอะไหล่ต้องอยู่ในกระเป๋า ไม่ตกหล่นหรือขาดหาย

– การเป็นที่พึ่งพาของเพื่อนๆ ในร้าน

หากโดนลูกค้า complain หรือต่อว่าเราในฐานะ Senior จะเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจสถานการณ์และปลอบประโลมความรู้สึกของลูกค้า และต้องพยายามเคลียเคสให้เสร็จโดยเร็วเพราะเหตุการณ์แบบนี้มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของลูกค้าท่านอื่นๆ step แรกคือต้องรีบเข้าไปหาเครื่องดื่มให้ลูกค้าใจเย็นขึ้น และพูดคุยถึงปัญหา และ สาเหตุ โดยส่วนมากจะรับเรื่องไว้และติดต่อกลับไปอีกที จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้รวดเร็วที่สุด และบอกเหตุผลไปว่าเพราะเราไม่ใช่ Store manager ไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่จะดูแลเคสนี้เอง และจะทำให้ดีที่สุด หากเพื่อนๆ อยากทราบปัญหาภายในร้านสำหรับคนอยากทำงานสายนี้สามารถอ่าน บทความ 59 วิธีแก้ไขปัญหาของพนักงานขายแบรนด์เนมจากประสบการณ์จริง

– การเปิดร้าน

แน่นอนการเป็น Senior จำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบ เปิดร้าน และ เตรียมความพร้อมทั้งระบบให้พร้อม, โดนจะมีใบ check list เพื่อป้องกันการลืม เช่น เปิดระบบไฟ นำของที่มีราคาสูงใน Vault หรือตู้เซฟมาแสดงโชว์ และจัด VM เปิดระบบคอมพิวเตอร์และทดสอบการทำงาน เช็คเครื่องรูดบัตรต่างๆ ว่ามีกระดาษด้านในหรือไม่ เช็คกระดาษเครื่องปริ้นท์ ทำความสะอาดร้านบ้างตามความจำเป็น

การเปิดร้านในบางครั้งจะมาพร้อมกับการรับ Shipment คือสินค้าจะถูกส่งโดยเครื่องบินมาที่ชั้นล่างของห้างเราจำเป็นต้องลงไปนับสินค้า และ เช็กสินค้าให้ตรงกับ List ซึ่งเยอะมาก และ ฝุ่นเยอะมาก บางคนที่แพ้ฝุ่นจะทำงานนี้ด้วยความลำบากทีเดียว

– การนำเงินส่งบริษัทรับเงิน

จำเป็นที่จะต้องมีพนักงานอย่างน้อยจำนวนสองคน เพื่อเช็กเงินและอยู่ภายใต้กล้องวงจรปิด และเป็นคนเก็บกุญแจ Vault

การรับผิดชอบเงินสด หากลูกค้าจ่ายเงินสดสกุลเงินต่างๆ โดยมากจะรับเพียง บาท US.Dollar Euro และ RMB ทุกครั้ง Senior จำเป็นต้องตรวจเช็คเงินสดอีกรอบเพื่อความถูกต้อง ที่ร้านจะมีเครื่องเช็คธนบัตรแท้ปลอมด้วย

การรับผิดชอบบัตรเครดิตและบัตรเดบิต เราจำเป็นต้องเช็กจำนวนยอดเงินที่รูดจริงกับยอดเงินในระบบให้ตรงกัน โดยปรินท์ใบสรุปจากเครื่องรูดบัตรทุกเครื่องแล้วมารวมกับยอดจำนวนในระบบ จะต้องสรุปยอดให้ตรงก่อนกลับบ้าน

– การปิดร้าน

ต้องเช็คเงินในระบบและเงินที่ได้รับจริงให้ตรงกัน นำเงินสดเข้าในตู้เซฟ ปิดระบบคอมพิวเตอร์และระบบไฟของร้าน ทำความสะอาด นำสินค้ามูลค่าสูงเข้า Vault และ นับจำนวนชิ้นให้ถูกต้อง และ ขอบคุณลูกค้าชุดสุดท้าย