- พฤศจิกายน 7, 2024
- พนักงานขายในร้านแบรนด์เนม
วิธีดูแลความต้องการของลูกค้าในร้านแบรนด์เนม
1) ลูกค้าต้องการขอเงินคืนหลังจากใช้กระเป๋าไปแล้ว ?
แบรนด์จะมีนโยบายการรับคืนสินค้า พร้อมคืนเงิน โดยทุกแบรนด์จะมีระยะเวลาให้คืนสินค้าไม่เท่ากันและที่สำคัญคือ สินค้าต้องเหมือนใหม่ ไม่ผ่านการใช้งาน หรือ มีตำหนิ เพราะแน่นอนสินค้าเหล่านี้ยังจะต้องนำกลับมาขายอีกครั้ง
2) ลูกค้าต้องการซ่อมฟรี ?
สินค้าบางชิ้นมีปัญหาด้านการผลิตเช่น ตัวล็อกหลุดง่าย แม่เหล็กไม่ดูด ยาแนวละลาย ลืมเย็บบางส่วน ทำให้แบรนด์สามารถเสียชื่อเสียงได้ แบรนด์จึงยอมซ่อมให้ฟรี หรือ เปลี่ยนสินค้าใหม่ อย่างไรก็ตาม สินค้าทุกชิ้นทางแบรนด์ไม่สามารถซ่อมได้ทุกชิ้น เพราะอาจจะไม่มีอะไหล่ หรือ ถ้ามีค่าใช้จ่ายในการซ่อมอาจใกล้เคียงกับราคาซื้อสินค้าใหม่ การซ่อมแซมหากเกิดขึ้นในประเทศไทยจะค่อนข้างถูก แต่ถ้าเกิดขึ้นที่ต่างประเทศนั่นหมายความว่าเราต้องส่งกระเป๋าหรือสินค้าของคุณไปยังต่างประเทศ จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและเวลาค่อนข้างนานกว่า
3) ลูกค้าต้องการเปลี่ยนสินค้าหลังจากใช้งานแล้ว ?
โดยปกติแล้วหากสินค้าผ่านการใช้งานจะไม่สามารถเปลี่ยนหรือคืนได้เพราะทางแบรนด์ ไม่สามารถนำสินค้าเหล่านี้มาขายใหม่ได้ หากจำเป็นจริงๆ ทางแบรนด์สามารถนำสินค้าเหล่านี้ มาเปลี่ยนอะไหล่เพื่อกำจัดตำหนิและนำมาขายใหม่ หรือ เป็นสินค้าเพื่อแสดงโชว์ได้เท่านั้น หรือตัดเป็นสินค้าราคาพิเศษสำหรับพนักงาน ซึ่งสามารถอ่านได้ในบทความต่อไป
4) ลูกค้าไม่พอใจในคุณภาพสินค้าและต้องการเงินคืน ?
แต่ละแบรนด์จะมีนโยบายไม่เหมือนกันแน่นอน คุณไม่สามารถซื้อสินค้า ใช้สักพัก แล้วบอกว่าไม่พอใจ จะเอาคืน มันจำเป็นต้องมีเหตุผล โดยส่วนมากแล้วแบรนด์จะไม่อนุญาตให้ทำสิ่งเหล่านี้
5) ลูกค้าลองสินค้ามากมายแต่ไม่ซื้อ ?
ลูกค้าทุกคนล้วนมีสิทธิที่จะลองสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ หากแต่ว่าบางท่านอาจจะลองค่อนข้างมากแล้ว เพื่อไปซื้อเมืองนอกที่ราคาถูกกว่า เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิต ที่ต่างกัน หรือต้องการมาลองสนุกๆ อย่างไรก็ตามพนักงานขายต้องทำหน้าที่ดูแลลูกค้าทุกท่านให้ดีที่สุด แม้ว่าจะเจอกับลูกค้าบางท่านที่มีพฤติกรรมแปลกๆ พนักงานจำเป็นต้องใจเย็นและอดทน หรือถ้ารู้สึกไม่ไหวจริงๆสามารถเรียกเมเนเจอร์ให้มาดูแลต่อ แล้วพนักงานสามารถไปรับลูกค้าต่อ ปกติแล้วถ้าเมเนเจอร์ลงมาดูแล ลูกค้าส่วนใหญ่จะเกรงใจ และ รีบออกจากร้านไป ที่สำคัญเราไม่สามารถเชิญหรือไล่ ลูกค้าออกจากร้าน มันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ อาจจะถามลูกค้าแทนว่าที่คุณลูกค้าลองทั้งหมดสนใจชิ้นไหนเป็นพิเศษไหมค่ะ หนูจะได้ไปแพ็กสินค้าให้ ถ้าเขาไม่ซื้อส่วนใหญ่ก็จะออกจากร้านไปเอง
6) ลูกค้าบอกให้จองไว้ให้แล้วเดี๋ยวกลับมาจ่ายเงิน ?
แบรนด์ส่วนใหญ่มีบริการจอง สามารถเก็บสินค้าให้ลูกค้าได้ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้ลูกค้าท่านอื่นไม่เสียโอกาส หากเกิดลูกค้าที่จองไว้ไม่สามารถมารับสินค้าได้ ซึ่งสำหรับคนต่างชาติปกติแล้วทางแบรนด์จะไม่ได้เก็บไว้ให้เพราะส่วนใหญ่จะตัดสินใจซื้อในทันที
7) ลูกค้าต้องการผ่อนจ่ายสินค้า หรือ โปรโมชั่นบัตรเครดิต ?
ร้านแบรนด์เนมส่วนใหญ่จะได้โปรโมชั่นบัตรเครดิตจากทางห้างสรรพสินค้าที่แบรนด์ตั้งอยู่ โดยทางแบรนด์ไม่ได้มีโปรโมชั่นกับบัตรเครดิตโดยตรง เช่น หลายธนาคารมีโปรโมชั่นผ่อน 0% 12 เดือนมากมาย ลูกค้าต้องเช็คโปรโมชั่นกับธนาคารเอง หรือ สามารถสอบถามอย่างละเอียดได้ที่เคาน์เตอร์ห้างสรรพสินค้าต่างๆที่ร้านค้าแบรนด์เนมตั้งอยู่
8) ลูกค้าจ่ายเงินสดและบัตรเครดิต ?
โดยส่วนมากแล้วทางแบรนด์สามารถรับเงินสด สกุลเงินที่เป็นสากล เช่น U.S. Dollars, Yen, RMB, EURO, POUND และ เงินสกุลท้องถิ่นตามที่ตั้งของร้านแบรนด์เนม เช่น สาขาเกสร จะรับเงินไทยบาทด้วย
ส่วนสกุลเงินอื่นทางแบรนด์ไม่รับ และทางร้านจะทอนเป็นเงินสกุลท้องถิ่น สำหรับบัตรเครดิต หรือ เดบิต VISA, Master, JCB, American Express, Union Pay, Alipay, Wechatpay, โอนเงินสดผ่านธนาคาร. โดยทุกครั้งที่รับเงินสด ทางร้านจะมีเครื่องเช็คธนบัตรแท้ ปลอม
9) ลูกค้าต้องการสินค้าลดราคาจากทางร้าน ?
ทางร้านแบรนด์เนมส่วนใหญ่จะไม่ได้มีส่วนลดบ่อยๆ หนึ่งปีอาจจะมีครั้งถึงสองครั้งหรือไม่มีเลย ถ้ามีก็จะแจ้งลูกค้าประจำให้ทราบก่อน เพราะสินค้ามีจำนวนจำกัด ถ้ายังเหลืออยู่ก็จะจัดอีเวนต์แยก และนำสินค้ามาขายไม่ปนกับหน้าร้าน เพราะอาจจะมีผลกระทบสำหรับลูกค้าหน้าร้านและความรู้สึกของผู้ซื้อราคาเต็ม บางแบรนด์ไม่เคยมีลดราคาเลย เพราะต้องการคงภาพลักษณ์ High End ของแบรนด์ไว้
10) ลูกค้าโชว์สลิปโอนเงินปลอม ?
มิจฉาชีพระบาดมากมาย ทางร้านแบรนด์เนมจึงมีทีมงานสามารถเช็คเงินเข้า Real time ได้เลย โดยจะเปิดบิลหลังจากได้รับเงินเรียบร้อยแล้ว
11) ลูกค้าลองสินค้าแล้วต้องการสินค้าใหม่ ?
ปกติลูกค้ามีสิทธิที่จะลองและซื้อสินค้าชิ้นใหม่ได้อยู่แล้ว พนักงานมีหน้าที่ดูแลให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ
12) ลูกค้าต้องการให้โอนของจากสาขานึงมาอีกสาขานึง ?
ปกติแล้วการโอนของเป็นบริการของทางร้านแบรนด์เนมอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องรอ หรือ สินค้าที่โอนมาอาจมีตำหนิ
13) ลูกค้าอ้างว่าให้เงินสดครบแล้วแต่พนักงานได้นับเงินแล้วไม่ตรงกัน ?
ปกติแล้วทางร้านแบรนด์เนมจะมีกล้องอยู่ที่เคาน์เตอร์ และทุกครั้งที่พนักงานขายรับเงินจำเป็นต้องนับจำนวนเงินให้ชัดเจนต่อหน้าลูกค้า
14) ลูกค้าตามหาสินค้าที่ไม่มีสต๊อก ?
พนักงานสามารถเช็คและแนะนำสินค้าใกล้เคียงที่มีสต๊อกอยู่ ถ้าลูกค้ายืนยันในสินค้าที่ต้องการแต่แรก ทางพนักงานมีหน้าที่พยายามเช็คว่าสามารถสั่งสินค้า โดยการมัดจำล่วงหน้าได้หรือไม่ บางสินค้าจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนและไม่สามารถคืนมัดจำได้
15) ลูกค้าตามหาของหายาก ?
สินค้าบางตัวถ้าดารา ศิลปิน ที่หลายคนชื่นชอบเป็นพรีเซนเตอร์ วัยรุ่นหรือกระแสนิยมก็จะมีความต้องการสินค้าชิ้นนั้นๆค่อนข้างสูง อาจต้องมีการเข้าคิว หรือ ฝากเบอร์โทรติดต่อไว้ถ้าสินค้ามาถึง พนักงานจะติดต่อกลับไป
16) ลูกค้าต้องการส่วนลด ?
โดยส่วนมากร้านแบรนด์เนมจะไม่มีส่วนลด นอกจากสินค้า Sales ในบางช่วงของปีเท่านั้น ซึ่งพนักงานขายโดยส่วนมากจะแจ้งให้ลูกค้าประจำทราบล่วงหน้าก่อนและลูกค้าท่านอื่นๆสามารถเดินทางเข้ามาซื้อได้ในภายหลัง
17) ลูกค้าต้องการซื้อ Gift Voucher ?
บางร้านแบรนด์เนมมีนโยบายการขาย Gift Voucher เพื่อเป็นของขวัญให้ลูกค้าในโอกาสพิเศษ แต่ในระยะหลังจะมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่สะดวกต่อผู้ได้รับ สินค้าในร้านราคาค่อนข้างสูง และ ผู้ได้รับอาจไม่ชอบแบรนด์ อีกทั้งยังมีวันหมดอายุ จึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก
18) ลูกค้าต้องทำกระเป๋าหรือสินค้าเป็นรอยตอนลอง ?
การทดลอง สวมใส่ ใช้งาน เช่นรองเท้า เสื้อผ้า หรือ กระเป๋า อาจะเกิดร่องรอยขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ รองเท้าควรสวมถุงเท้าและมีไม้ใส่รองเท้าทุกครั้ง สำหรับเสื้อผ้าควรมีที่รองเครื่องสำอางบนใบหน้าทุกครั้ง สำหรับกระเป๋าไม่ควรพับสาย หรือ ใส่ของหนักระหว่างรอง ซึ่งเหล่านี้เป็นมารยาทที่เข้าใจได้ในการทดลองสินค้า เนื่องจากระหว่างการลองสินค้า ลูกค้ามีสิทธิตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อ หากไม่ซื้อก็ไม่ควรลองจนเป็นตำหนิส่งผลให้สินค้าที่ลอง ไม่สามารถขายได้ง่าย
19) ลูกค้าทำสินค้าเสียหายโดยไม่ตั้งใจ ?
บางครั้งลูกค้าอาจทำสินค้าเสียหาย โดยอุบัติเห
ตุ เช่น เดินชนขวดน้ำหอมแตก เปิดกระเป๋าแรงจนขาด วางกระเป๋าแรงจนกระจกเคาน์เตอร์แตก ความเสียหายเหล่านี้ส่วนใหญ่พนักงานขายจะต้องรีบแจ้งให้เมเนเจอร์ได้ทราบเรื่อง เพื่อพูดคุยกับลูกค้า ว่าจะหาทางออกแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร เนื่องจากหลายสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากอุบัตเหตุ
20) ลูกค้ามาหาพนักงานขายโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านคิว ?
ลูกค้าประจำ หรือ ลูกค้าที่ทำนัดกับพนักงานไว้ล่วงหน้า โดยปกติแล้วสามารถเข้ามานั่งรอพบพนักงานได้เลย โดยไม่ต้องต่อคิว แต่ถ้าลูกค้าที่ไม่ได้ทำนัดไว้จำเป็นต้องต่อคิว
21) ลูกค้าแสตมป์บัตรจอดรถ ?
หากมียอดซื้อจำนวนหนึ่งตามที่ห้างได้ระบุไว้ สามารถนำใบเสร็จโชว์ให้พนักงานเคาน์เตอร์ห้างแสตมป์บัตรจอดรถโดยไม่เสียค่าจอดรถ หรือ ได้จอดฟรีตามจำนวนชั่วโมงตามที่ห้างสรรพสินค้าระบุ
22) ลูกค้านำกระเป๋ามาทำความสะอาด ?
ปกติทางร้านแบรนด์เนมจะไม่มีบริการทำความสะอาดเนื่องจาก ไม่ได้มีเครื่องมือและบุคลากรจัดการด้านนี้ จึงไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้ แต่จะสามารถแนะนำวิธีดูแลและรักษาความสะอาดได้
23) ลูกค้าต้องการสั่งสายกระเป๋าเพิ่ม ?
บางรุ่นลูกค้าสามารถสั่งอะไหล่ได้ แต่บางรุ่นจะไม่สามารถสั่งได้เนื่องจากเลิกผลิตไปแล้ว
24) ลูกค้าต้องการของแถม ?
ส่วนมากร้านแบรนด์เนมจะไม่มีของแถมให้ อาจมีเพียง Tester น้ำหอมให้ไปลองใช้งาน หรืออาจมีหนังสือแคตตาล็อกสินค้า สติกเกอร์ โปสการ์ด ของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆ ตามเทศกาลเพราะทางแบรนด์ไม่สามารถแจกของพวกนี้ให้กับลูกค้าทุกท่านได้
25) ลูกค้าต้องการให้จัดส่งไปที่บ้าน ?
โดยปกติแล้วจะมียอดสั่งซื้อสินค้าขั้นต่ำ ทางร้านสามารถจัดส่งไปยังสถานที่ของผู้ซื้อได้ หากของเป็นชิ้นใหญ่เช่น เฟอร์นิเจอร์ ทางแบรนด์มีบริการจัดส่งฟรี
26) ลูกค้าซื้อออนไลน์แต่ต้องการมารับที่ร้าน ?
แล้วแต่แบรนด์เลย แต่ส่วนใหญ่อาจไม่มีบริการนี้เนื่องจากการส่งของไปมา จะทำให้จัดการสต๊อกค่อนข้างลำบาก การซื้อของออนไลน์ และ หน้าร้านแต่ละสาขาจะมีสต๊อกที่แตกต่างกันออกไป เช่น ร้านแถวจุดท่องเที่ยวจะมีสินค้าค่อนข้างมาก ในสนามบินจะเป็นสินค้าชิ้นเล็กพกพาง่าย น้ำหนักไม่เยอะ หรือ กระเป๋าเดินทาง ของฝาก และ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะค่อนข้างขายดี
27) ลูกค้าเห็นสต๊อกสินค้าในเว็บไซต์แต่ไม่มีสินค้าจริงในร้าน ?
อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากระบบ บางครั้งอาจมีเหตุขัดข้องหรือสินค้านั้นๆกำลังมีผู้ซื้ออีกคนทดลองอยู่และกำลังจะซื้อ วิธีที่ดีที่สุดคือโทรหาสาขานั้นๆเพื่อไปลองสินค้าจริงภายในร้าน หรือ ให้พนักงานเก็บสินค้าไว้ให้
28) ลูกค้าต้องการให้ห่อของขวัญและจัดส่งให้ ?
ปกติทางแบรนด์จะมีบริการนี้ฟรี อยู่แล้วเนื่องจากอาจจะเพิ่มการ์ดและโบว์ เพียงเท่านี้ก็เสมือนของขวัญให้ผู้รับในงานเทศกาลต่างๆเช่น วาเลนไทน์ ปีใหม่ ตรุษจีน วันเกิด วันแต่งงาน วันครบรอบ วันเรียนจบ
29) ลูกค้าต้องการเข้าร่วมงานอีเว้นท์ของแบรนด์ ?
โดยปกติแล้วพนักงานจะขอเบอร์โทรศัพท์และมีหน้าที่แจ้งให้แขกทราบ เพื่อเข้าชมอีเวนต์ต่างๆ โดยส่วนมากจะเปิดให้ลูกค้าทุกท่านเข้าชม เว้นเสียแต่งานที่มีเก้าอี้ หรือ พื้นที่ค่อนข้างจำกัดก็จะไม่สามารถเชิญทุกคนมางานได้ โดยเฉพาะอีเวนท์ที่มีการเสิร์ฟอาหาร เพราะพนักงานก็ต้องรับผิดชอบรายชื่อลูกค้า เนื่องจากการเชิญมาแล้วก็มีค่าใช้จ่าย ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มีก็ล้วนแล้วแต่มีศักยภาพค่อนข้างสูงในการซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอีเว้นท์นั้นๆ
30) ลูกค้าต้องการสั่งสินค้าล่วงหน้า ?
สินค้าบางชิ้นเปิดให้ลูกค้าจองล่วงหน้า มีทั้งแบบจ่ายเงินก่อน หรือ แค่ลงชื่อไว้ เนื่องจากสินค้าบางชิ้นมีจำนวนจำกัด ทางร้านจะไม่สามารถการันตีได้ว่าสินค้าจะเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าหรือไม่
31) จำนวนสินค้าไม่พอต่อความต้องการของลูกค้า ?
พนักงานสามารถโอนสินค้าจากสาขาอื่น ลูกค้าสามารถสั่งออนไลน์ ลูกค้าสามารถมัดจำจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อสั่งสินค้า หรือ พนักงานสามารถแนะนำสินค้าที่ใกล้เคียงเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า
32) ลูกค้าไม่สามารถเข้าร่วมอีเว้นท์ที่ได้ตอบตกลงล่วงหน้า ?
พนักงานจำเป็นจะต้องมีรายชื่อแขกสำรอง เพียงพอที่จะทำให้งานอีเว้นท์นั้นๆ ไม่ว่างจนเกินไป
33) ลูกค้าจองสินค้าแล้วไม่มารับ ?
โดยปกติทางพนักงานจะติดต่อลูกค้า หากข้ามวันก็จะปลดจอง เพื่อให้ลูกค้าท่านอื่นมีสิทธิซื้อสินค้าชิ้นนั้นๆ
34) ลูกค้าต้องการซื้อสินค้าที่สำหรับโชว์เท่านั้น ?
พนักงานขายจำเป็นต้องอธิบายให้ลูกค้าทราบ ถึงรายละเอียดสินค้าชิ้นนั้นๆ ถ้าลูกค้าไม่ฟังอาจจะต้องขอความช่วยเหลือเมเนเจอร์
35) ลูกค้าไม่ซื้อแต่นั่งรอในร้านเป็นเวลานาน ?
พนักงานไม่มีสิทธิไล่ลูกค้าออกจากร้านได้ หากลูกค้านั่งรอเพื่อนโดยไม่ซื้อสินค้า อาจรบกวนให้เมเนเจอร์ช่วยเฝ้า ส่วนพนักงานเองสามารถออกไปรับคิวลูกค้าต่อได้
36) ลูกค้าเข้ามาก่อนเวลาร้านปิดพอดี ?
พนักงานจำเป็นต้องมีความอดทน แม้ว่าลูกค้าต้องการเลือกซื้อสินค้าต่อเกินเวลาร้านปิดก็ตาม แต่พนักงานก็สามารถเริ่มจัดร้านปิดระบบบางส่วน จัด VM เฉพาะส่วนที่ลูกค้าในร้านไม่ได้ใช้งาน
วิธีแก้ปัญหาต่างๆของพนักงานขายแบรนด์เนม
37) สินค้ามีตำหนิ แต่มีชิ้นสุดท้าย ?
แล้วแต่ลูกค้าว่าต้องการจะรับชิ้นนี้ไหม บางท่านอาจไม่ต้องการรอสินค้าชิ้นใหม่ หรือ บางท่านคิดว่าสินค้าใช้ไปแล้วยังไงก็เกิดตำหนิ จึงไม่ซีเรียสกับตำหนิเล็กๆน้อยๆ
38) พนักงานลืมทำ Tax Refund ให้ชาวต่างขาติในเมือง ?
มีบางเคสที่ลูกค้าไม่ยอมและต้องการ Tax Refund พนักงานจำเป็นต้องเดินทางไปสนามบินเพื่อนำใบ Tax Refund ให้กับลูกค้า
39) ลูกค้าชาวต่างชาติไม่ต้องการทำ Tax Refund ?
ลูกค้าหลายท่านไม่อยากเสียเวลาต่อคิว เพื่อรับ Tax refund จึงบอกพนักงานขายว่าไม่ต้องการ จะทำให้ขั้นตอนการเปิดบิลสั้นลงไปอีก
40) กระเป๋าทุกใบสามารถซ่อมได้ไหม ?
ขึ้นอยู่กับอะไหล่ และ นโยบายการซ่อมสินค้าประเภทนั้นๆ หากสินค้าเก่าและเป็น Limited ส่วนมากจะไม่มีอะไหล่ สินค้าคลาสสิคโดยปกติแล้วจะสามารถซ่อมได้ ส่วนราคาแล้วแต่ตำแหน่งและวิธีการซ่อม หากซ่อมที่ต่างประเทศต้องรวมค่าขนส่งเข้าออกเข้าไปด้วย ทีสำคัญคือหากกระเป๋าได้รับการซ่อมจากที่อื่นมาแล้ว ทางแบรนด์ไม่สามารถรับมาซ่อมต่อได้เนื่องจาก เคยมีเหตุการณ์ที่แบรนด์รับซ่อมต่อแล้ว ค้นพบว่าชิ้นงานไม่เหมือนเดิมแล้ว แบรนด์ไม่สามารถซ่อมให้อยู่ในสภาพ รูปร่างเดิมได้ เช่น กระเป๋าถูกเปลี่ยนหูจับที่ใหญ่กว่าแบรนด์มาแล้ว และลูกค้าต้องการให้เปลี่ยนหูจับอีกรอบ พอแกะหูจับเก่าที่ใหญ่ รอยเย็บไม่ตรงกันซึ่ง ถ้าเปลี่ยนเป็นหูจับเล็กจะเห็นรอยเย็บเป็นรู สิ่งเหล่านี้ทางแบรนด์อาจจะไม่สามารถตรวจสอบได้ 100% จึงต้องแจ้งทางลูกค้าไว้ล่วงหน้า บางครั้งแกะออกมา เคยเจอกระเป๋าเป็นรูใหญ่ เพราะช่างเย็บทุกคนประสบการณ์ฝีมือและอุปกรณ์ไม่เหมือนกัน
41) รองเท้าสามารถซ่อมได้ไหม ?
โดยส่วนมากรองเท้า จะไม่สามารถซ่อมได้ เนื่องจากพื้นรองเท้ามีวิธีการซ่อมที่ซับซ้อน หากเป็นที่บริเวณพื้นผิวของรองเท้า ส่วนใหญ่ช่างรองเท้าที่ไทยก็มีความสามรถที่จะตกแต่ง ขัด ให้ดูสภาพดีขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องส่งไปซ่อมที่เมืองนอก ยกเว้นอะไหล่บางตัวหลุด
42) นาฬิกาและจิวเวลรี่สามารถซ่อมได้ไหม ?
นาฬิกาสามารถเปลี่ยนถ่านได้ในประเทศไทยหลายเจ้า แต่ถ้าเปลี่ยนกับทางแบรนด์เราจะมีการรับประกันแบตเตอรี่ ในส่วนของการซ่อมนาฬิกาจำเป็นต้องส่งไปเมืองนอกเพราะตัวเรื่องและอะไหล่จะเป็นของแท้ หากลูกค้าต้องการซ่อมในราคาถูกก้จำเป็นที่จะต้องหาร้านซ่อมในไทยเอง ซึ่งหากซ่อมที่อื่นแล้ว ทางแบรนด์ปกติแล้วจะไม่รับซ่อมต่อ เนื่องจากสินค้าถูกปรับเปลี่ยนมาแล้ว
43) จำนวนพนักงานไม่เพียงพอกับลูกค้า ?
เมเนเจอร์บางครั้งจะลงมาช่วยรับคิวและขายสินค้าหากคิวค่อนข้างยาว หรือบางครั้งอาจจะปล่อยให้ลูกค้าเข้ามาเกินจำนวนพนักงานที่ปกติแล้วจะดูแล 1-1 แต่พนักงานต้อนรับจะบอกลูกค้าไว้ล่วงหน้า เพื่อลูกค้าจะได้เข้าใจว่า พนักงานไม่สามารถดูแลได้เต็มที่อาจมีขาดตกบกพร่องบ้าง
44) ทัวร์ประเทศจีนต้องการเข้ามาในร้าน ?
โดยปกติแล้วร้านแบรนด์เนมจะไม่ได้รับลูกค้าทัวร์ เพราะ ลูกค้าทัวร์ไม่ได้มีความต้องการชมสินค้าทุกคน และ การสื่อสารอาจไม่สะดวก อีกทั้งพนักงานจะดูแล 1-1 จึงทำให้คิวรอค่อนข้างนานและ ตารางการทัวร์อาจล่าช้าได้
45) ลูกค้าขโมยของในร้าน ?
เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นน้อยมากๆเนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่เป็นคนที่มีมารยาทดี บวกกับทางร้านมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่หน้าประตูทางเข้าออก กล้องวงจรปิดทุกมุม และ พนักงานคอยสอดส่องดูแลความเรียบร้อย โดยพนักงานทุกคนจะได้รับการเทรนด์ให้หยิบสินค้าครั้งละน้อยชิ้นให้ลูกค้าได้ลอง เพื่อป้องกันสินค้าหายไปด้วยในตัว และไม่ทำให้ลูกค้าสับสน
46) สามีภรรยาขัดแย้งหรือไม่เเห็นด้วยกับการซื้อสินค้ากันในร้าน ?
บางครั้งความไม่เข้าใจหรือความเห็นอาจไม่ตรงกัน เราในฐานะผู้ขายไม่ควรเร่งให้ผู้ซื้อตัดสินใจ เราควรแนะนำให้ลูกค้ากลับไปใช้เวลาคิดก่อนหรือ อาจเก็บไว้ให้ในระยะเวลาที่กำหนด ลูกค้าเดี๋ยวนี้สามารถซื้อออนไลน์ได้ด้วย จึงไม่จำเป็นต้องรีบ ยกเว้นว่ามีเหตุการณ์หรือโอกาสที่ต้องใช้ พนักงานควรทำให้สถานการณ์ดีขึ้นไม่ว่า
47) ลูกค้าลืมสินค้าไว้ที่ร้าน ?
ปกติแล้วถ้าเป็นลูกค้าภายในประเทศเราจะสามารถติดต่อกลับหาลูกค้าได้ แต่ลูกค้าต่างประเทศหากลูกค้ากลับประเทศไปแล้วเราก็จะเก็บสินค้าไว้ให้รอลูกค้าติดต่อมารับ แต่โดยปกติแล้วเราจะไม่สามารถส่งไปหาลูกค้าที่ต่างประเทศได้ เพราะมีค่าขนส่งและภาษีเพิ่มเติมที่ต้องชำระ
48) ลูกค้าฝากสินค้าไว้ที่ร้าน ?
ลูกค้าสามารถฝากสินค้าที่ซื้อแล้วไว้ที่ร้านได้ ปกติแล้วทางร้านจะรับฝากภายใน 1 วันเพราะหากเกิน 1 วันภายในร้านมีสินค้าเข้าออกจำนวนมาก อาจเกิดการหยิบผิด หรือ หายได้ ทางร้านจึงไม่กล้ารับผิดชอบ
49) ลูกค้านำน้ำดื่ม ไอศกรีม อาหาร เข้ามาทานในร้าน ?
ลูกค้าจำเป็นที่จะต้องฝากน้ำดื่ม อาหารที่ไม่มีกลิ่นกับพนักงานขายก่อนเข้าชมสินค้า และ ร้านไม่อนุญาตนำไอศกรีมเข้าไปกินในร้าน เนื่องจากอาจเกิดการเลอะสินค้าและร้านค้าได้
50) ลูกค้าพูดจาไม่ดี ไม่มีมารยาท ?
ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์มีอารมณ์ดีบ้างร้ายบ้างเป็นธรรมดา รัก โลภ โกรธ หลง จึงเป็นเรื่องปกติที่อาจมีเหตุให้เจอบ้าง พนักงานขายจำเป็นต้องมีความเข้าใจลูกค้าแต่ละคนเป็นอย่างมาก และ ไม่ควรทำกริยา มารยาทที่ไม่ได้ต่อลูกค้า เพราะอาจทำให้ลูกค้าไม่พอใจ ต่อว่าเรา หรือ รายงานต่อผู้จัดการได้ ที่สำคัญที่สุดการทำกิริยา มารยาทไม่ดีบ่อยๆ จะติดเป็นนิสัยและจะลามไปถึง Mind set ทางความคิด เราจึงไม่ควรทำตั้งแต่ต้นเป็นดีที่สุด ปล่อยวางบ้างในบางเรื่อยจะทำให้เราทำงานอย่างมีความสุข
51) พนักงานขายดูแลไม่ดี ?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้ง พนักงานขายอาจทำให้ลูกค้าไม่พอใจ หรือ ดูแลลูกค้าได้ไม่ดี เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆเช่น หาสินค้าได้ช้า หาสินค้าไม่เจอ เปิดบิลผิด ทำน้ำหกใส่ลูกค้า บอกรายละเอียดสินค้าผิด และ อื่นๆอีกมากมาย ที่สำคัญที่สุด ต้องมีความจริงใจให้ลูกค้าแล้วอะไรๆก็จะดีขึ้นเอง เราเชื่อว่ายังงั้นครับ หากเกิดขึ้นหลายครั้งเมเนเจอร์หรือเพื่อนๆจะคอยตักเตือน หรือ อาจจะโดนลูกค้าต่อว่าจนเรื่องไปถึงเมเนเจอร์
52) พนักงานขายเปิดบิลผิด ใส่ชื่อลูกค้าผิด คิดเงินผิด ?
บางครั้งอาจเกิดข้อผิดพลาดทางระบบเช่น ชื่อลูกค้าซ้ำกันในระบบ หลายครั้งที่เจอคือลูกค้าเปลี่ยนเบอร์โทร หรือ เคยลงทะเบียนสาขาอื่น หรือ ชื่อที่เคยลงทะเบียนสะกดผิด เหล่านี้ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้ การคิดเงินผิดสามารถเกิดขึ้นได้ หากพนักงานแสกนบาร์โค้ดสินค้าผิด บางครั้งบาร์โค้ดอาจไม่ตรงกับสินค้าจริง สิ่งนี้ยังทำให้สต๊อกผิดพลาดด้วย ทุกครั้งพนักงานจำเป็นต้องเช็คสินค้าจริงให้ตรงกับบาร์โค้ดด้วย ยิ่งถ้าเป็นเงินสดต้องนับอย่างต่ำสองครั้ง ถ้าจำนวนมากจำเป็นต้องหาเพื่อนพนักงานเป็นพยานนับเงินต่อหน้าลูกค้า เพื่อความโปร่งใส
53) พนักงานขายแพ็กสินค้าผิดชิ้น ?
ห้องแพ็คนั้นค่อนข้างแคบเนื่องจากเนื้อที่จำกัด ส่วนใหญ่แล้วสินค้าจะถูกนำมาเข้าคิวให้พนักงานแพ็กสินค้า บางลูกค้าอาจจะรีบ จึงต้องแซงคิวบ้าง บางสินค้าอาจต้องเอาอะไหล่จากอีกที่ หรือ กล่องบางใบอาจจะหมด สินค้าที่ลูกค้าซื้ออาจเหมือนกัน จึงทำให้เกิดการหยิบผิดถุงได้ ปัญหามากมายเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ซื้อควรตรวจเช็กสินค้าทุกครั้งที่ออกจากร้าน เพื่อความไม่ประมาท
54) ลูกค้ารอคิวนาน คิวยาว ?
หลายครั้งคิวหน้าร้านอาจจะยาวเนื่องจากวันหยุดยาว หรือวันเทศกาลพนักงานก็จำเป็นที่จะต้องทำเวลาในการดูแลลูกค้า อาจจะตัองทานข้าวให้เร็วขึ้นหน่อย เพื่อช่วยกันรับลูกค้าหน้าร้าน อีกทั้งการดูลูกค้าหลายท่านพร้อมกันอาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หลายๆครั้งพนักงานต้อนรับอาจเดินไปถามตามคิวว่าต้องการหาสินค้าชิ้นไหน ถ้าไม่มีจะได้ไม่เสียเวลาคุณลูกค้าต่อคิว และทำให้คิวสั้นลง
55) บัตรเครดิตได้รับการรูดสองรอบหรือรูดเงินผิดและลูกค้าอยู่ภายในร้าน ?
เครื่องรูดบัตรสามารถ Void ได้หรือยกเลิกการรูดเงินได้หลักจากรูดบัตรไปไม่นาน รวมถึง Wechat pay และ Alipay ก็สามาถยกเลิกได้เช่นกัน
56) บัตรเครดิตได้รับการรูดสองรอบและลูกค้าออกนอกร้านไปแล้ว ?
หากลูกค้าเดินทางออกนอกร้านไปแล้ว พนักงานมีหน้าที่โทรติดต่อลูกค้าให้ทราบและคืนเงินตามวิธีที่ลูกค้าได้ชำระเงิน ระยะเวลาปกติแล้วไม่นาน แล้วแต่ธนาคารและวิธีการชำระเงินของลูกค้า
57) บัตรเครดิตรูดไม่ผ่าน ?
อาจมีหลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่เกิดจากวงเงินที่ลูกค้าตั้งไว้มีจำกัด หรือ เครื่องรูดบัตรมีปัญหา การชำระเงินด้วยบัตรอื่นๆ เงินสด หรือ โอนผ่านทางธนาคารจึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วที่สุด
58) เงินในระบบและเงินที่ได้รับจริงไม่ตรงกัน ?
พนักงานจะต้องไล่เช็คบิลทุกใบว่า ที่เปิดบิลใบตรงกับราคาสินค้าไหม หรือ อาจเกิดการทอนเงินผิด ซึ่งใหญ่จะเกิดจากการที่พนักงานขายคิดเลขรวมเงินจริงผิดเอง ซึ่งเงินในระบบมักจะตรงกับเงินจริง
59) ระบบไฟในร้านไม่ติด ขัดข้อง ?
อีกหนึ่งปัญหาที่น่าปวดหัว คือทางร้านทุกร้านสามารถออกบิลเงินสดกระดาษได้ โดยหลังจากระบบไฟกลับมาใช้ได้แล้ว พนักงานจำเป็นต้องคีย์ข้อมูลบิลกระดาษเข้าระบบเพื่อการทำบัญชีที่ถูกต้อง โดยปกติแล้วร้านจะมีไฟสำรองแต่ไฟนี้จะใช้ได้เฉพาะไฟบนเพดานร้านเท่านั้น ไม่เพียงพอสำหรับระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
สรุปแล้ว วิธีการรับมือกับปัญหาต่างๆอาจแตกต่างไปตามนโยบายของแบรนด์ ประสบการณ์ของพนักงานขายแต่ละคน และ ลักษณะของลูกค้า ไม่มีการแก้ปัญหาโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หากสนใจเรื่องราวของพนักงานขายแบรนด์เนม สามารถอ่านเกี่ยวกับการสมัครงาน เงินเดือน สังคม หน้าที่ของพนักงานขาย